- ประกาศ อบจ.บุรีรัมย์
- ข้อมูลดาวน์โหลด
- กฎหมายท้องถิ่น
- งบประมาณรายรับ-รายจ่าย
- การตรวจสอบงบการเงิน
- แผนอัตรากำลัง 3 ปี
- โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- กฎหมาย
- รายงานประจำปี
- รายงานการตรวจสอบภายใน
- แผนส่งเสริมการท่องเที่ยว
- แบบรายงาน ปปช.
- กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดบุรีรัมย์
- ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
- เลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานจังหวัดบุรีรัมย์
คำขวัญของจังหวัดบุรีรัมย์ “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม”ประวัติความเป็นมานักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้ข้อสันนิษฐานโดยสรุปว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) เชื่อมต่อจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16-18) จากนั้นก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงและแตกแยก อาจจะด้วยเหตุภัยธรรมชาติหรือสงคราม ประชาชนกระจายออกไปตั้งชุมชนเล็กๆ ตามป่าหรือชายแดนเรียกว่า “เขมรป่าดง”สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2319 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะดำรงพระยศเจ้าพระยาจักรีเสด็จมาทรงจัดระเบียบการปกครองเมืองนางรอง รวบรวมผู้คนเมืองตลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์ ก่อตั้งเป็นเมืองใหม่ ณ ชัยภูมิป่าทุ่งต้นแป๊ะเรียกว่า “เมืองแป๊ะ” คือเมืองบุรีรัมย์ปัจจุบันความชอบครั้งนี้ได้รับพระราชทานพระอิสริยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พ.ศ. 2450 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วย 3 เมือง 17 อำเภอ คือ เมืองนครราชสีมา 10 อำเภอ เมืองชัยภูมิ 3 อำเภอ และเมืองบุรีรัมย์ 4 อำเภอ คือ นางรอง พุทไธสง ประโคนชัย และรัตนบุรี (ปัจจุบันสังกัดจังหวัดสุรินทร์)ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ขึ้นยุบมณฑลและจัดระเบียบบริการราชการออกเป็นจังหวัดและอำเภอ เมืองบุรีรัมย์จึงมีฐานะเป็น “จังหวัดบุรีรัมย์” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งและอาณาเขตจังหวัดบุรีรัมย์
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 15 ลิปดาเหนือกับ 15 องศา 45 ลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 102 องศา 30 ลิปดา กับ 103 องศา 45 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยรถยนต์ประมาณ 385 กิโลเมตร ทางรถไฟประมาณ 376 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับจังหวัดและประเทศใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และสุรินทร์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว และราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา
อาณาเขตติดต่อของอำเภอในจังหวัด
ทิศเหนือ อำเภอนาโพธิ์ บ้านใหม่ไชยพจน์ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม
ทิศตะวันตก อำเภอลำปลายมาศ หนองหงส์ คูเมือง ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก อำเภอพลับพลาชัย กระสัง ประโคนชัย ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์
ทิศใต้ อำเภอบ้านกรวด ละหานทราย โนนดินแดง ติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและประเทศกัมพูชา
จังหวัดบุรีรัมย์มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 10,393.945 ตารางกิโลเมตรหรือ 6,451,178.125 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.11 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคิดเป็นร้อยละ 2.01 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทิศเหนือมีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อยเป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขาเกิดจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อประมาณเก้าแสนถึงหนึ่งล้านปีเศษ ทำให้จังหวัดบุรีรัมย์มีลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญคือ
1. พื้นที่สูงและภูเขาทางตอนใต้
2. พื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นตอนกลางของจังหวัด
3. พื้นที่ราบลุ่มตอนเหนือริมฝั่งแม่น้ำมูล
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในแถบของลมมรสุมเขตร้อน ลักษณะของลมฟ้าอากาศและปริมาณน้ำฝน จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ลมมรสุมที่พัดผ่านคือ
1. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่บริเวณภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตก แต่จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับปริมาณน้ำฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นอยู่ ปริมาณน้ำฝนส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของลมพายุในทะเลจีนใต้
2. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแคว้นไซบีเรียและทางตอนเหนือของประเทศจีน ทำให้เกิดความหนาวเย็นและความแห้งแล้งโดยทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง
ฤดูกาลในจังหวัดบุรีรัมย์ มี 3 ฤดู ในแต่ละฤดูจะมีช่วงเวลาไม่คงที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอิทธิพลของลมมรสุมเป็นหลัก แต่โดยทั่ว ๆ ไป พอสรุปได้ดังนี้
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อากาศร้อน อบอ้าวและร้อนจัดมากในบางช่วงส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งโดยทั่วไป
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนไม่แน่นอน บางปีฝนมาก บางปีฝนน้อย ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมและลมพายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ความหนาวเย็นในแต่ละปีขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและร่องความกดอากาศต่ำจากประเทศจีนโดยทั่วไปจังหวัดบุรีรัมย์มีลักษณะอากาศคล้ายคลึงกับทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูฝนจะมีฝนตกหนักในเดือนมิถุนายน
การปกครองและประชากร
แบ่งการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ 188 ตำบล 2,546 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ 209 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 51 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 155 แห่ง จำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,521,065 คน เป็นชาย 759,385 คน เป็นหญิง 761,680 คน (30 กันยายน 2553) จำนวนชายคิดเป็นร้อยละ 49.92 ของประชากรทั้งหมดและจำนวนผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 50.08 ของประชากรทั้งหมด ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล 213,684 คน คิดเป็นร้อยละ 14.05 ส่วนที่เหลือ 1,307,381 คน หรือร้อยละ 85.95 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล แบ่งการปกครองดังนี้
1. อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มี 18 ตำบล 323 หมู่บ้าน
2. อำเภอนางรอง มี 15 ตำบล 188 หมู่บ้าน
3. อำเภอประโคนชัย มี 16 ตำบล 182 หมู่บ้าน
4. อำเภอพุทไธสง มี 7 ตำบล 97 หมู่บ้าน
5. อำเภอลำปลายมาศ มี 16 ตำบล 216 หมู่บ้าน
6. อำเภอสตึก มี 12 ตำบล 179 หมูบ้าน
7. อำเภอกระสัง มี 11 ตำบล 168 หมู่บ้าน
8. อำเภอละหานทราย มี 6 ตำบล 84 หมู่บ้าน
9. อำเภอบ้านกรวด มี 9 ตำบล 115 หมู่บ้าน
10. อำเภอหนองกี่ มี 10 ตำบล 108 หมู่บ้าน
11. อำเภอคูเมือง มี 7 ตำบล 106 หมู่บ้าน
12. อำเภอปะคำ มี 5 ตำบล 77 หมู่บ้าน
13. อำเภอหนองหงส์ มี 7 ตำบล 100 หมู่บ้าน
14. อำเภอนางโพธิ์ มี 5 ตำบล 65 หมู่บ้าน
15. อำเภอพลับพลาชัย มี 5 ตำบล 67 หมู่บ้าน
16. อำเภอห้วยราช มี 8 ตำบล 80 หมู่บ้าน
17. อำเภอโนนสุวรรณ มี 4 ตำบล 56 หมู่บ้าน
18. อำเภอชำนิ มี 6 ตำบล 63 หมู่บ้าน
19. อำเภอโนนดินแดง มี 3 ตำบล 37 หมู่บ้าน
20. อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ มี 5 ตำบล 55 หมู่บ้าน
21. อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มี 5 ตำบล 67 หมู่บ้าน
22. อำเภอบ้านด่าน มี 4 ตำบล 59 หมู่บ้าน
23. อำเภอแคนดง มี 4 ตำบล 54 หมู่บ้าน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ดิน
ดินมีคุณภาพต่ำ เพราะเป็นดินที่สลายตัวมาจากหินทราย การระบายน้ำดีแต่ไม่อุ้มน้ำ บางแห่งเป็นดินภูเขาไฟเหมาะแก่การปลูกข้าวและผลไม้ มีกลุ่มดิน ดังนี้
- กลุ่มดินนา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่จังหวัดส่วนมากครอบคลุมบริเวณตอนกลางเป็นแนวยาวไปทางใต้ ส่วนทิศเหนือของจังหวัดมีดินชนิดนี้อยู่บ้างเล็กน้อย
- กลุ่มดินไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของจังหวัด กระจัดกระจายอยู่
- กลุ่มดินคละครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 20 ของจังหวัดส่วนมากจะอยู่บริเวณตอนกลาง
ทรายน้ำจืด
มีทรายน้ำจืดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ท้องที่อำเภอคูเมือง พุทไธสง และอำเภอสตึก มีผู้ประกอบการ ดูดทรายหลายราย
ป่าไม้
ป่าไม้ จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ทั้งหมด 6,451,178 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,750,070 ไร่ หรือร้อยละ 27.13 ของพื้นที่จังหวัด
- ป่าสงวนแห่งชาติ (22 ป่า) เนื้อที่ 1,750,069.50 ไร่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง เนื้อที่ 371,250 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง เนื้อที่ 195,486 ไร่ มอบให้ ส.ป.ก.เนื้อที่ 1,038,814.50 ไร่ คงเหลือเนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ เนื้อที่ 144,519 ไร่
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าจำนวน 4 แห่ง เนื้อที่ 11,878 ไร่
- ป่าไม้ถาวรของชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เนื้อที่ 41,994 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นวนอุทยาน 1 แห่ง เนื้อที่ 1,450 ไร่ รวมพื้นที่ป่าไม้คงเหลือตามกฎหมายป่าไม้ เนื้อที่ 765,127 ไร่
แร่ธาตุ
จังหวัดบุรีรัมย์มีแร่ธาตุที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ หินบะซอลท์ เป็นหินที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งได้จากภูเขาไฟดับแล้วในเขตอำเภอเมือง อำเภอนางรอง และทรายจากบริเวณแม่น้ำมูลในอำเภอสตึก อำเภอคูเมือง และอำเภอพุทไธสง
แหล่งน้ำแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สำคัญได้แก่
1. แม่น้ำมูล อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดไหลผ่านท้องที่อำเภอคูเมือง พุทไธสง สตึก แคนดง มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปี 256.69 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการอุปโภค– บริโภค และเพื่อการเกษตร
2. ลำน้ำชี เป็นลำน้ำแบ่งเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์ อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด ไหลผ่านท้องที่อำเภอประโคนชัย พลับพลาชัย กระสัง และอำเภอสตึก มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 444.69 ล้านลูกบาศก์เมตร
3. ลำปลายมาศ ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมาสู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดบุรีรัมย์ ผ่านอำเภอปะคำ นางรอง ลำปลายมาศ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูล มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 464.72 ล้านลูกบาศก์เมตร
4. ลำนางรอง เกิดจากเทือกเขาทางด้านทิศใต้ของจังหวัดบุรีรัมย์ไหลผ่านอำเภอโนนดินแดง นางรอง ไปบรรจบกับลำปลายมาศตอนกลางของจังหวัด มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 271.71 ล้านลูกบาศก์เมตร
5. ลำปะเทีย เกิดจากเทือกเขาทางด้านทิศใต้ของจังหวัด ไหลผ่านอำเภอละหานทราย นางรอง ไปบรรจบกับลำปลายมาศ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 161.76 ล้านลูกบาศก์เมตร
6. ลำพังชู ไหลผ่านอำเภอนาโพธิ์ พุทไธสง มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 146.40 ล้านลูกบาศก์เมตร
7. ลำจักราช ไหลผ่านอำเภอหนองกี่ หนองหงส์ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 98.63 ล้านลูกบาศก์เมตร
8. ลำห้วยแอก ไหลผ่านอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 109.99 ล้านลูกบาศก์เมตร
9. ลำสะแทด ไหลผ่านอำเภอนาโพธิ์ บ้านใหม่ชัยพจน์ พุทไธสง มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 179.33 ล้านลูกบาศก์เมตร
10. ลำตะโคง ไหลผ่านอำเภอบ้านด่าน คูเมือง ลำปลายมาศ แคนดง สตึก ห้วยราช ประโคนชัย เมืองบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 284.23 ล้านลูกบาศก์เมตร
แหล่งน้ำชลประทาน
ที่สำคัญจังหวัดบุรีรัมย์มีโครงการชลประทานขนาดใหญ่/กลาง 14 โครงการ เก็บน้ำได้ 274.72 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 152,452 ไร่ และมีเขื่อนที่สำคัญคือ เขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง ความจุ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางกว่า 204 แห่ง ที่สำคัญได้แก่
- อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมืองบุรีรัมย์
- อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ.เมืองบุรีรัมย์
- อ่างเก็บน้ำลำจังหัน อ.ละหานทราย
- อ่างเก็บน้ำปะเทีย อ.ละหานทราย
- อ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา อ.บ้านกรวด
- อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อ.กระสัง
สังคมและคุณภาพชีวิต
อาชีพประชากรร้อยละ 89 ประกอบอาชีพเกษตร โดยมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 4,528,833 ไร่ หรือร้อยละ 69.71 ของพื้นที่จังหวัด อาชีพที่สำคัญ คือ การทำนาเป็นอาชีพหลักของคนจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำฝนปีละครั้ง พืชไร่ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ปอ และงาดำ เป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดบุรีรัมย์รองจากข้าว พืชสวนและไม้ยืนต้นเริ่มมีบทบาทยิ่งขึ้นเมื่อพืชผลที่เกษตรลงไปรุ่นแรกๆเก็บเกี่ยวได้ผลตอบแทนคุ้มค่าน่าพอใจโดยเฉพาะยางพารา จังหวัดมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่องซึ่งนอกจากจะเป็นอาชีพหลักแล้วบางรายก็สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่การเกษตรกรรมประมาณ 4,528,833 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 69.71 ของพื้นที่จังหวัด ครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 232,583 ครัวเรือน แยกตามรายอำเภอตามตารางดั้งนี้
- ปศุสัตว์ที่สำคัญเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์มีการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่พื้นเมืองมากกว่าไก่ไข่ เนื่องจากไก่เนื้อตลาดมีความต้องการมากและประชาชนนิยมบริโภคไก่เนื้อและไก่พื้นเมือง รองลงมาคือโคเนื้อ
- ประมงที่สำคัญจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล ลักษณะการประกอบอาชีพประมงของประชากรในจังหวัดเป็นลักษณะการเพาะเลี้ยง- เนื้อที่ทำการประมงน้ำจืด 118,987 ไร่ เลี้ยงปลาน้ำจืดในจังหวัดประมาณ 21,319 ตัว- สหกรณ์ประมง จำนวน 1 สหกรณ์ คือ สหกรณ์ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด
แรงงานประชากรและกำลังแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์มีประชากรที่เป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,273,512 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานรวม 879,941 คน ผู้มีงานทำ 832,969 คน ผู้ว่างงาน 21,986 คน กำลังแรงงานที่รอฤดูกาล 24,986 คน และผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานรวม 393,571 คน (ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ และอื่นๆ)
การจัดหางานในจังหวัดจากการสำรวจพบว่ามีตำแหน่งงานว่าง 3,058 อัตรา เป็นเพศชาย 425 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 13.90 เพศหญิง 625 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 20.44 และที่ไม่ระบุเพศ 2,008 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 65.66 ในส่วนของการลงทะเบียนสมัครงานพบว่ามีผู้ลงทะเบียนสมัครงานทั้งสิ้น 1,606 คน เป็นเพศชาย 744 คน คิดเป็นร้อยละ 46.33 เพศหญิง 862 คน คิดเป็นร้อยละ 53.67 หากพิจารณาถึงการบรรจุงาน มีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน จำนวน 772 คน เป็นเพศชาย 352 คน คิดเป็นร้อยละ 45.60 เพศหญิง 420 คน คิดเป็น ร้อยละ 54.40หากพิจารณาถึงการบรรจุงานตามวุฒิการศึกษาพบว่า ระดับมัธยมศึกษามีการบรรจุงานมากที่สุด จำนวน 334 คน คิดเป็นร้อยละ 43.26 รองลงมาคือระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า จำนวน 156 คน คิดเป็นร้อยละ 20.21 และระดับปริญญาตรี จำนวน 150 คน คิดเป็นร้อยละ 19.45 อาชีพที่มีการบรรจุงานมากที่สุด คือ อาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 274 คน คิดเป็นร้อยละ 35.49 รองลงมาคืออาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 142 คน คิดเป็นร้อยละ 18.39 และอาชีพเสมียนเจ้าหน้าที่จำนวน 106 คน คิดเป็นร้อยละ 13.73
แรงงานไทยในต่างประเทศในช่วงไตรมาศที่ 2/2553 (เมษายน-มิถุนายน2553) มีแรงงานไทยที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 262 คน ซึ่งแยกตามระดับการศึกษาแล้ว ระดับมัธยมศึกษามากที่สุดจำนวน 137 คน คิดเป็นร้อยละ 52.29 รองลงมาคือประถมศึกษา จำนวน 94 คน คิดเป็นร้อยละ 35.88 ระดับ ปวช. ปวส. ปวท. และอนุปริญญา จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 7.63 และระดับปริญญาตรี จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 4.20 จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุมัติเดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวน 696 คน โดยวิธี Re-Entry จำนวน 696 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ภูมิภาคที่ไปทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 525 คน คิดเป็นร้อยละ 67.14 ตะวันออกกลางจำนวน 233 คน คิดเป็นร้อยละ 29.80 และภูมิภาคอื่นๆ จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 3.07
แรงงานต่างด้าวจังหวัดบุรีรัมย์มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 26 คน เป็นคนต่างด้าวเข้าเมือง ถูกกฎหมาย 26 คน เป็นประเภทชั่วคราวทั่วไป 22 คน ชั่วคราว(MOU)นำเข้า 1 คน ชั่วคราว(MOU)พิสูจน์สัญชาติ 3 คน
การพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาผู้ใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การฝึกเตรียมเข้าทำงาน 60 คน และฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน 47 คน ผ่านการฝึก 47 คน คิดเป็นร้อยละ 100 และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 38 คน ผ่านการทดสอบ 30 คน คิดเป็นร้อยละ 78.95
การคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการตรวจสถานประกอบการทั้งสิ้น 146 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ 5,685 คน เป็นชาย 3,096 คน หญิง 2,589 คน คิดเป็นร้อยละ 54.46 และ 45.54 ตามลำดับ จากการตรวจสถานประกอบการปรากฏว่าไม่มีสถานประกอบการใดที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง การตรวจความปลอดภัยในการทำงานมีสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจ 80 แห่ง ลูกจ้างที่ผ่านการตรวจ 4,484 คน เป็นชาย 2,456 คน หญิง 2,028 คน คิดเป็นร้อยละ 54.77 และ 45.23 ตามลำดับ
การประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ มีสถานประกอบการขึ้นทะเบียนประกันสังคมทั้งสิ้น 1,588 แห่ง ผู้ประกันตน 20,521 คน การใช้บริการของกองทุนประกันสังคมจำแนกตามประเภทประโยชน์ทดแทน (ไม่เนื่องจากการทำงาน) มีผู้ใช้บริการจำนวน 5,345 ราย โดยประเภทที่มีผู้มาใช้บริการมากที่สุด คือ กรณีเจ็บป่วย 1,925 ราย รองลงมาคือกรณีว่างงาน 1,203 ราย และกรณีคลอดบุตร 1,013 ราย ส่วนการจ่ายเงินทดแทนทั้งสิ้น 48,533,727.76 บาท พบว่ากรณีคลอดบุตรมีการจ่ายเงินทดแทนสูงสุด 16,629,487.50 บาท รองลงมา เป็นกรณีว่างงาน 109,295,563.20 บาท และกรณีสงเคราะห์บุตร 9,475,850.00 บาท การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน (ในเงินทุน) มีทั้งสิ้น 26 คน จำแนกตามความร้ายแรงส่วนใหญ่หยุดงานเกิน 3 วัน 16 คน ร้อยละ 61.54 รองลงมาคือหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 9 คน ร้อยละ 34.62 และตาย 1 คน ร้อยละ 3.85จำนวนสถานประกอบการที่เลิกกิจการและลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจำแนกตามประเภทกิจการมีสถานประกอบการที่เลิกกิจการทั้งสิ้น 6 แห่ง แยกเป็นกิจการการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ 3 แห่ง ร้อยละ 50.00 ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด การค้าอื่นๆ 1 แห่ง ร้อยละ 16.67 และกิจการอื่นๆ 2 แห่ง ร้อยละ 33.33 จำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 5 คน แยกเป็นร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด 4 คน ร้อยละ 80.00 และการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ 1 คน ร้อยละ 20.00